top of page

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
กับพระอัจฉริยภาพด้านสถาปัตยกรรมไทย 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานวิชาการด้านต่างๆ มากมายเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกรชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมทั้งยังทรงมีพระอัจฉริยะภาพในการนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและพสกนิกรชาวไทย
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้


นอกเหนือจากพระอัจฉริยะภาพในด้านงานศิลปะและวัฒนธรรมไทยแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในงานด้านนี้ ทรงมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยงานด้านสถาปัตยกรรมไทย ทั้งด้านการออกแบบ การใช้สอย สัดส่วนรูปทรง ตลอดจนถึงส่วนประดับประดาตกแต่งต่างๆ พระราชทานแก่บรรดาสถาปนิกที่ถวายงานรับใช้พระองค์ท่าน พระราชกรณียกิจและความสนพระราชหฤทัยต่องานสถาปัตยกรรมไทยนี้ได้เกื้อหนุนต่อพัฒนาการของงานศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยเป็นอย่างยิ่ง

Credit : www.facebook.com/วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์-367420510005972/

1. พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์
 

    ตั้งอยู่ ณ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา  รัฐอุตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2544 และแล้วเสร็จ พ.ศ. 2547 โดยผู้เป็นเจ้าของโครงการคือ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และสถาปนิกถวายงานคือ อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร (ศิลปินแห่งชาติ)

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประกอบภาพฝีพระหัตถ์โดยพระราชทานกลับมาที่ผู้ออกแบบและดำเนินการต่อมาจนแล้วเสร็จ อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุกลับสู่แดนพุทธภูมิและเส้นพระเจ้า เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐานในพระธาตุเจดีย์ที่ได้รับสั่งแก่ผู้ใกล้ชิดว่า ‘เจดีย์ของเรา’ และทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างนับแต่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเบื้องต้น และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้วยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำไปใช้เป็นทุนในการทำนุบำรุงให้ยั่งยืนตลอดไป

2. การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน 
 

    ตั้งอยู่ ณ สวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง ด้านตะวันออก ในพระบรมมหาราชวังปีที่แล้วเสร็จ พ.ศ. 2547 เจ้าของโครงการ คือ สำนักพระราชวัง

    “คติช่างไทยแต่โบราณจะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคารแนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้งกับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ 4 อันเป็นการเขียนภาพแบบประเพณีไทย สมควรรักษาแนวคิดของช่างโบราณ”

    พระราชกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถึงแนวทางการแก้ไขภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน

    แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ

    แนวพระราชดำริที่ให้มีการแก้ไขภาพจิตรกรรมฝาผนังพระราชรัตนสถาน เป็นการแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านศิลปกรรมไทย กล่าวคือ รูปแบบ ศิลปกรรมภายนอกอาคาร การตกแต่งภายในอาคาร และความหมาย ความสำคัญของอาคารให้สอดคล้องกับหลักการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทยอย่างแท้จริง  พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนงานจิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับภาพตอนบนก็จะเป็นการถูกต้อง ถือเป็นการเชิดชูงานศิลปกรรมของภูมิปัญญาบรรพชน พระราชกระแสแนวการเขียนภาพ มีสาระสำคัญ คือ

    1. พระพุทธรัตนสถานคือประวัติศาสตร์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ มีพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ทรงเกี่ยวข้องเป็นสาระสำคัญของเรื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อก่อนเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินั้น พระพุทธรัตนสถานชำรุดด้วยถูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังมิได้ซ่อมแซม

    2. ให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างแต่โบราณ พยายามประสานภาพใหม่ให้กลมกลืนกับภาพตอนบน

    3. ยึดความถูกต้องตามข้อมูลที่เป็นจริงซึ่งปัจจุบันสามารถค้นคว้าได้ไม่ยุ่งยาก

    4. ขอให้คำนึงว่างานศิลปกรรมนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ท่าน ศิลปินไม่ควรสร้างสิ่งที่ผิดให้ปรากฏ

Credit : wikipedia

3. พระอุโบสถวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
 

    ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 999 ถนนพระราม 9 ที่ 19 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างในปีพ.ศ. 2539 และแล้วเสร็จเมื่อพ.ศ. 2540 เจ้าของโครงการคือ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และสถาปนิกถวายงาน คือ นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติ) 

    ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีราชประสงค์ให้พื้นที่บริเวณบึงพระราม 9 กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองตัวอย่างของชุมชนที่มีบ้าน วัด โรงเรียน ตามหลักของ ‘บวร’ ในการประสานความร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาชุมชนให้บังเกิดความเจริญยิ่งขึ้น

    แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ

    แรกเริ่มสถาปนิกผู้ถวายงานตามพระราชดำริได้นำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์มีรับสั่งให้ย่อขนาดลงให้กะทัดรัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะชุมชน และสามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นอย่างดีเท่าเทียมกับพระอุโบสถทั่วไป ด้วยไม่โปรดให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น แต่มีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดของชุมชนพระราม 9 เพื่อใช้ในการประกอบศาสนกิจ ชี้ให้เห็นพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นเพียงการใช้ประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ และยังมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนด้วย

Credit : wikipedia

4. พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร
 

    ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 สถาปนิกถวายงานคือ นายประเวศ ลิมปรังษี (ศิลปินแห่งชาติ) เจ้าของโครงการคือ วัดโสธรวราราม

    “ตั้งใจมานมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรนานแล้ว ทำไมสร้างพระอุโบสถแบบนี้ ไม่สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร ให้ปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่”

    กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตามขัตติยราชประเพณีเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2509

    แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ

    การออกแบบพระอุโบสถนั้นได้เน้นการประยุกต์รูปแบบที่ไม่อิงตามแบบแผนของพุทธาวาสทั่วไป โดยการรวมพระอุโบสถเข้ากับพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่นๆ ให้เป็นหลังเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และมีคุณลักษณะต้องตามพระราชดำริ คือให้เป็นอาคารสมเกียรติ กับหลวงพ่อพุทธโสธร มีความสง่างาม มีคุณค่าทางศิลปะ เหมาะสมที่จะเป็นพุทธสถานคู่บ้านคู่เมือง และให้เป็นสมบัติคู่ชาติสืบไป

Credit : wikipedia

5. พระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7
 

    ตั้งอยู่ ณ ท้องสนามหลวงด้านใต้ กรุงเทพมหานคร ปีที่เริ่มสร้าง พ.ศ. 2527 และแล้วเสร็จพ.ศ. 2528 โดยมีนายประเวศ ลิมปรังษี (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นสถาปนิกถวายงาน 

    “ขอให้ดำเนินการโดยประหยัด แต่ให้ครบถ้วนตามขัตติยราชประเพณี และสมพระเกียรติยศพระบรมศพ อีกประการหนึ่ง ฐานพระเมรุมาศไม่ควรสูงนัก จะเป็นการลำบากแก่พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพซึ่งทรงเจริญพระชนมายุมากพรรษาด้วยกันหลายพระองค์”

    กระแสพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงแนวทางการออกแบบที่ทรงคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ

    แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ

    ในการออกแบบพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 นายประเวศ ลิมปรังษี ได้นำความคิดในด้านรูปร่าง แบบ และชั้นเชิงของพระเมรุมาศองค์กลางของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเป็นแนวทางในการออกแบบพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนลวดลายและการตกแต่งรายละเอียดนั้นได้ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงพระราชบุคลิกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี อันมีลักษณะสง่างาม นิ่มนวล จับตาจับใจของผู้มีโอกาสได้ชมพระบารมี

Credit : wikipedia

6. ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร

    ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างในปีพ.ศ. 2525 และแล้วเสร็จพ.ศ. 2529 นาวาเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นสถาปนิกถวายงาน และมีองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ดูแลโครงการ

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งถึงรูปแบบของศาลหลักเมืองที่จะสร้างใหม่หลังนี้ว่า “ศาลหลักเมืองนั้น ให้มีลักษณะเหมือนๆ กับประตูพระบรมมหาราชวัง คือมีความสูง แต่มีมุขยื่นโดยรอบทั้งสี่ด้าน”

    แนวความคิดในการออกแบบตามพระราชดำริ

    นาวาอากาศเอกอาวุธ เงินชูกลิ่น มีแนวความคิดในการออกแบบตามแนวพระราชดำริขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทำการร่างแบบศาลหลักเมืองหลังใหม่เป็นอาคารทรงยอดปรางค์ มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้ายประตูพระบรมมหาราชวัง และมีมุขยื่นโดยรอบทั้ง 4 ด้าน แล้วจึงนำขึ้นกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวินิจฉัย

7. พระอุโบสถวัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
 

    ตั้งอยู่เลขที่ 14 ถนนคาโลนน์ วิมเบิลดัน เขตมอร์ตัน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เริ่มสร้างในปีพ.ศ. 2519 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2525 สถาปนิกผู้ถวายงาน คือ นายประเวศ ลิมปรังษี (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นสถาปนิกถวายงาน

    ในปี พ.ศ. 2508 รัฐบาลไทยในขณะนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งวัดพระพุทธศาสนา ณ กรุงลอนดอน โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการสร้างวัดไทยในกรุงลอนดอนไว้ในพระบรมราชูปถัมป์

    การออกแบบพระอุโบสถวัดพุทธปทีปนั้น ได้เน้นการประยุกต์รูปแบบและระบบการก่อสร้างอาคารที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้ง อันเกี่ยวเนื่องกับสภาพดินฟ้าอากาศในเมืองหนาว หากแต่ดัดแปลงหลังคาบางส่วนของตึกให้มีศิลปะแบบวัดไทย ให้พอมีเนื้อที่ที่จะสร้างโบสถ์ขนาดเล็กได้ ในตึกควรมีห้องโถง สำหรับจัดเป็นที่ประชุม ห้องประชุม และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

8. ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
 

    ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู เริ่มสร้างและแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2511 เจ้าของโครงการคือ เทศบาลเมืองหนองบัวลำภู มีนายประเวศ ลิมปรังษี (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นสถาปนิกถวายงาน

    “เมื่อครั้งโบราณ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาได้เคยทรงกรีฑาทัพจากอยุธยาผ่านหนองบัวลำภูแห่งนี้ เพื่อไปทำศึกปกป้องบ้านเมือง”

    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งต่อเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายบุกยึดสถานีตำรวจอำเภอหนองลำภู ซึ่งขณะนั้นเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุดรธานี จึงทรงมีพระราชดำริให้สร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่หนองบัวลำภู เพื่อปลุกปลอบขวัญและกำลังใจให้ชาวบ้านเกิดความรักบ้านรักเมือง

    ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ออกแบบให้เป็นอาคารลักษณะคล้ายหอพระ และเนื่องด้วยความเร่งรัดในการสร้างซึ่งต้องแล้วเสร็จในเวลา 3 เดือน จึงเน้นการออกแบบที่มีความเรียบง่ายและใช้วัสดุเป็นไม้ โดยหันหน้าทางด้านตะวันออกไปยังสถานีตำรวจและภูเขาภูพาน อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างภายนอกจะเรียบง่ายหากแต่ได้พิถีพิถันในการออกแบบลวดลายประดับต่างๆ โดยนำลวดลายประดับหน้าบันที่เกี่ยวเนื่องกับกรีฑายุทธครั้งสำคัญ เพื่อให้สมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

เรียบเรียงข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ นิตยสารกินรี ฉบับธันวาคม 2009

เรียบเรียงข้อมูลโดย : anywheremagazine

bottom of page