top of page

Ban Pha Chan, Miracle Cliff Of MEKONG RIVER

จากโขงเจียม อำเภอชายแดนด้านทิศตะวันออกของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีการกล่าวพาดพิงถึงเสมอว่า
“โขงเจียมตะวันออกสุดเขตประเทศไทย
จากโขงเจียม อำเภอชายแดนด้านทิศตะวันออกของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีการกล่าวพาดพิงถึงเสมอว่า “โขงเจียมตะวันออกสุดเขตประเทศไทย เห็นตะวันก่อนใครในแผ่นดิน” ที่เราเข้าพักในรีสอร์ทสวยเมื่อคืนที่ผ่านมา ตั้งอยู่ชิดติดกับแม่น้ำสองสี โขงสีปูนและมูลสีคราม มาสบพบกัน โขงเจียมนั้นมีหาดทรายกว้าง สามารถลงไปปูเสื่อนั่งชมวิวพร้อมรับประทานของว่างเล่นๆ ให้เย็นใจ แล้ววันนี้ เราได้ออกเดินทางจากโขงเจียมมาตามทางหลวงหมายเลข 2222 เข้าทางหลวงหมายเลข 2134 แล้วมาเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2112 สังเกตทางเข้าบ้านผาชันจะอยู่ทางด้านซ้ายมือ เลี้ยวเข้าไปอีกราว 4 กิโลเมตรก็ถึงบ้านผาชัน
WHERE TO STAY
ทอแสงโขงเจียมรีสอร์ท
http://www.tohsang.com/home.php
 
เศรษฐปุระ รีสอร์ท
www.tohsang.com/sedhapura/eng/home.php
 
HOW TO GET THERE
การบินไทย และ Nok Airบินไปลงยังท่าอากาศยานอุบลราชธานีรถเช่าที่อุบลราชธานี
 
ติดต่อ โทร. 045-242-202
ดูรายละเอียดที่ www.ch-wattana.com
กลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านผาชันโทร.089-720-8900, 085-016-3624
 
ที่บ้านผาชันแห่งนี้แปลกแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหาดทรายสวยที่สัมผัสได้ถึงความนุ่มนวลของโขงเจียม ด้วยบ้านผาชันนั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง และส่วนหนึ่งก็เป็นลานหิน(ล้วนๆ)ริมโขง หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตลิ่งริมโขง” นั้นมีความสูงราว 50-80 เมตร เป็นหน้าผาตัดดิ่งลงสู่เบื้องล่าง จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านผาชัน”
 
 ใช้บริการนั่งเรือชมวิวเลียบโขง ระยะทางราว 5.3 กิโลเมตร ที่สองฟากฝั่ง ไทย-ลาว นั้นเป็นผาหินสูง เช้าตรู่อย่างนี้ ชาวบ้านต่างรีบเร่งมาลงเรือประมงลำน้อยที่จอดแอบไว้กับหน้าผา ทยอยออกวางข่ายจับปลา เรียงรายไปในน้ำโขง และส่งเสียงทักทายกันเป็นระยะๆ ตามประสาที่รู้จักมักจี่กันมา แม้เราที่เป็นคนแปลกหน้า ก็ได้รับน้ำใจไมตรีด้วยการมอบรอยยิ้ม บางคนก็เอยปากทักทายว่า “มาเที่ยวหรือ” ช่างเป็นการต้อนรับที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา แต่เราก็ชื่นใจทีเดียว
ไกด์กิตติมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านผาชัน นั่งหัวเรือ ท้ายคือเจ้าของเรือเป็นคนขับ เราสองคนนั่งกลางลำ น่าจะเป็นจำนวนที่พอดีกับขนาดของเรือหาปลาชาวบ้าน ทุกคนสวมชูชีพตามระเบียบ พอเบนหัวเรือออกจากท่า เสียงอุทานด้วยความดีใจจากชาวบ้านที่อยู่กลางลำน้ำทำให้เราหันไปมอง เขาจับได้ปลาเกล็ดตัวใหญ่น่าจะสัก 10 กิโล ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงล่ะ เป็นปลาชนิดเดียวกับปลาตะเพียน มีขนาดตัวใหญ่มาก ชาวบ้านเรียกว่า “ปลาปากบาน” เราจึงลอยเรือเข้าไปดูใกล้ๆ ได้เห็นกันเต็มตาทีเดียว
จากนั้นจึงนั่งเรือมุ่งขึ้นสู่ทางด้านทิศเหนือ ชมแนวหน้าผาหินสองฟากฝั่ง จนกระทั่งมาถึง “ผาตัวเลข” ที่ฝรั่งเศสสมัยที่เข้ามาล่าอาณานิคมยุคสงครามอินโดจีน ในช่วงปี พ.ศ. 2486 ได้แกะสลักตัวเลขแสดงระดับน้ำเพื่อประโยชน์ในการเดินเรือไว้ที่ฝั่งไทย ร่องรอยนี้ยังมองเห็นได้ชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้ ขับเรือเลยไปอีก ก็สิ้นสุดหน้าผาหิน ซึ่งตรงฝั่งลาวก็จะมีหลักหมุดที่ฝรั่งเศสได้ปักทำเครื่องหมายเช่นเดียวกัน
แล้วจึงกลับเรือย้อนลงทางด้านใต้ เพลิดเพลินกับการชมวิถีชีวิตชาวประมงทั้งลาวและไทย และหินผารูปร่างต่างๆ กันตลอดทาง บางทีก็เป็นรูปแบบที่หลายๆ ก้อนวางซ้อนทับกัน บางช่วงหินก็มีเนื้อเดียวติดกันขนาดมหึมา มีด้านบนเป็นเทอเรซเรียบหรือระเบียงหินใหญ่มาก ทั้งฝั่งไทยและลาวมีน้ำตกเล็กๆ ที่ไหลลอดแผ่นหินตกลงน้ำโขงให้ชมอยู่หลายแห่ง
 
ส่วนไฮไลท์อีกแห่งหนึ่ง เมื่อเรือแล่นมาถึง เราถึงกับเอ่อปากชมว่างดงามมาก มีแผ่นหินยื่นออกมาด้านบน ส่วนหน้าผาที่ดิ่งลงมานั้น เหมือนมีหินซ้อนกันเป็นชั้นมีลักษณะเว้าแหว่งต่างกันไป ผู้ช่วยฯ บอกว่า ชื่อ “ผาหมาว้อ” สูงที่สุดของหน้าผาทั้งหมด และชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และจากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า ฝรั่งเศสเคยคิดจะสร้างสะพานข้ามระหว่างลาวกับไทยในจุดนี้...
Ban Pha Chan
บ้านผาชัน เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูนัก แม้เราจะเป็นนักเดินทางตัวยงก็ตาม แต่เมื่อมีผู้ขยายความให้อีกนิดหนึ่งว่าอยู่ไม่ไกลจากโขงเจียมและสามพัดโบก ก็พอจะวาดมโนภาพได้ลางๆ ทั้งที่ตั้งหมู่บ้านก็อยู่ติดชิดแนบกับอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งได้อาศัยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งในการกักเก็บน้ำเพื่อนำมาใช้ในหมู่บ้าน เป็นการบรรเทาภัยในยามแล้งของหมู่บ้านแล้ว ก็สามารถใช้สภาพภูมิศาสตร์ของ อช.ผาแต้มมาอ้างอิงได้
 
อุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นเทือกเขาสูงๆ ต่ำๆ ติดต่อสลับกันไปทั่วพื้นที่ ในระดับความสูง 100-600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ของบ้านผาชันก็อยู่ในระดับความสูงเฉลี่ยราว 100-140 เมตรจากระดับน้ำทะเล ด้านทิศตะวันออกติดลำน้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาว สภาพพื้นที่ริมโขงโดยรวมเป็นลานหินสูง เหมือนกันทั้งฝั่งไทยและลาว จึงมีสภาพคล้ายๆ ช่องเขาที่มีลำน้ำโขงไหลผ่าน สองฟากตลิ่งจะไม่ถูกกัดเซาะให้พังทลายเหมือนริมฝั่งโขงที่เป็นพื้นดินและทราย แต่น้ำโขงส่วนนี้มีความลึกมาก ขนาดช่วงน้ำลด ตลิ่งสูงราว 50-70 เมตร และลึกลงไปในน้ำบางช่วงลึก 30 เมตร เมื่อถึงหน้าน้ำหลาก น้ำโขงก็จะท่วมท้นทั้งสองฟากฝั่ง นำเอาสารอาหารที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมาสู่ผืนดินบนลานหินเหล่านี้
ในบริเวณลานหินกว้างนี้ยังมีแอ่งที่ลุ่มต่ำ ก็จะเก็บกักน้ำที่ท่วมเข้ามาเอาไว้ หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นในพื้นที่บนฝั่ง ทั้งยังเป็นน้ำใช้ให้กับหมู่บ้านผาชัน โดยสรุปแล้วด้วยสภาพภูมิศาสตร์ และธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขีดตลอดปี คือ เมื่อถึงหน้าน้ำก็ท่วม จนตัดขาดหมู่บ้านออกจากโลกภายนอกเป็นแรมเดือน หน้าแล้งน้ำก็อยู่ต่ำ จนยากแก่การนำเอาขึ้นมาใช้ แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจอย่างเข้มแข็งของชาวบ้านผาชันจึงสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งได้
 
ด้วยการจัดการ 2 วิธี คือ ทำฝายกักเก็บน้ำในที่สูง เพื่อปล่อยใช้ในบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ต่ำกว่า และยังมีบ้านอีกราว 20 หลังคาเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่าระดับน้ำในฝาย ก็ต้องใช้วิธีสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่กักเก็บไว้ตั้งแต่หน้าน้ำ ขึ้นสู่แท้งค์เก็บน้ำ ทว่าจากระดับน้ำขึ้นสู่แท้งค์นั้นมีความสูงมาก เครื่องสูบน้ำต้องทำงานหนักจนเสียบ่อยๆ และด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านผาชัน จึงเกิดนวัตกรรม “แอร์แว” เป็นการค้นคิดทำท่อเพิ่มแรงดันการส่งน้ำขึ้นที่สูงเป็นผลสำเร็จ ควบคู่ไปกับการรู้จักใช้น้ำเพื่อให้ประโยชน์สูงสูดและการดูแลรักษาป่าชุมชนต้นน้ำ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนสามารถคว้ารางวัลวิจัยดีเด่นจาก สกว.ในปี 2550 และชนะเลิศในการประกวดบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยชุมชน ครั้งที่ 2 ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความภาคภูมิใจมาสู่ชุมชนเป็นอย่างยิ่
คนบ้านผาชันแต่เดิมปลูกผักและพืชผลได้ตามพื้นราบริมโขง เมื่อน้ำลดลงใหม่ๆ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อสามารถจัดการปัญหาเรื่องน้ำได้ก็มีการทำนาข้าวซึ่งเพียงพอสำหรับบริโภคเท่านั้น ชาวนานิยมใช้ปุ๋ยคอกในการเพาะปลูก แต่ก็มีบางไร่สวนที่ใช้เคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้ชาวบ้านผาชันที่เลี้ยงวัวควายเป็นอาชีพเสริม ต้องระมัดระวังไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไร่สวนบ้านอื่น เพราะอาจตายเนื่องกินสารเคมีที่เป็นพิษได้
 
บ้านผาชันทำอาชีพประมงน้ำจืดแต่ดั้งเดิม หมู่บ้านที่อยู่ห่างออกไปขาดแคลนปลา เมื่อถึงหน้าจับปลาก็จะหาบเอาข้าว รำ และเกลือ มาแลกเอาปลาไปทำปลาร้าไว้กิน เมื่อราว 105 ปีนั้น มีเพียง 4-5 หลังคาเรือนที่เริ่มมาอาศัยอยู่ที่บ้านผาชัน มาบัดนี้มีผู้คนอาศัยอยู่กว่า 130 หลังคาเรือน มีประชากรมากกว่า 500 คน และก็ยังยืนหยัดทำประมงน้ำจืดตามความสมบูรณ์ของปลาในพื้นที่ ซึ่งมีปลาหลากหลายชนิดอาศัยอยู่ในทุกระดับความลึกของน้ำ และเมื่อถึงฤดูปลาขึ้น คือ มีปลาอพยพเข้ามา จึงทำให้มีปริมาณปลามากขึ้นในระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปี การเดินทางเข้าถึงในสมัยก่อนก็ยากแสนเข็ญ อาศัยเพียงการเดินเท้าหรือนั่งเกวียนเทียมวัว เมื่อการคมนาคมดีขึ้น ทัศนียภาพที่งามแปลกตาของบ้านผาชันก็เริ่มเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนภายนอก
bottom of page